โครงการศึกษาความเหมาะสมการแก้ไขปัญหาอุทกภัย อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมชลประทาน
เป็นการจัดทำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัย การพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจัดทำแผนงานประกอบด้วยโครงการระดับลุ่มน้ำและโครงการระดับท้องถิ่น และจัดทำเป็นแผนงานในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะกลาง รวม 742 โครงการ ส่งผลให้มีพื้นที่ชลประทาน/พื้นที่รับประโยชน์ 54,975 ไร่ และงบประมาณค่าก่อสร้าง 8,470.403 ล้านบาท (มูลค่า ณ ปี 2554) พร้อมคัดเลือกโครงการเพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่บริเวณตัวเมืองทุ่งสง : เป็นการปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และผันน้ำส่วนเกินไปยังลำน้ำใกล้เคียง พร้อมก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำในลำน้ำสายหลักเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำหลาก และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง องค์ประกอบโครงการประกอบด้วย การขุดลอกและปรับปรุงคลอง 7 แห่ง การขุดคลองผันน้ำ 2 แห่ง และการก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 10 แห่ง ทำให้สามารถควบคุมหรือบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนตัวเมืองทุ่งและโดยรอบได้ถึงรอบปีการเกิดอุทกภัยที่ 25 ปี (ขนาดใกล้เคียงกับอุทกภัยปี 2548 และ 2554)
2) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าโหลน : เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดกลาง ปิดกั้นคลองท่าโหลนที่หมู่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลนาหลวง อำเภอทุ่งสง ความจุเก็บกัก 6.044 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีแหล่งน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆครอบคลุม 4 หมู่บ้านในตำบลนาหลวงเสน และ 2 หมู่บ้านในเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ 2,650 ไร่